วัน - เวลาทำการ :
วันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 09:00 - 18:00 น.
วัน - เวลาทำการ :
วันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 09:00 - 18:00 น.

ศิลปะและการแสดงดนตรีชาวภูฏาน

ศิลปะและการแสดงดนตรีชาวภูฏาน
August 26, 2019 by Wow Together Travel

ศิลปะและการแสดงดนตรีชาวภูฏาน

        ศิลปะแบบภูฏานได้รับอิทธิพลมาจากทิเบตสั่งสมมาเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่มีความแตกต่างที่เป็นลักษณะของภูฏานเองและล้วนเป็นงานศาสนา สร้างเพื่อเผยแพร่พระธรรมคำสอนหรือไว้สำหรับสักการะ ชาวภูฏานไม่ได้มองว่าเป็นงานศิลปะ ลักษณะเด่นของศิลปะภูฏาน คือ

  1. ไม่ปรากฏชื่อศิลปินผู้รังสรรค์ผลงาน เดิมทีผู้สร้างผลงานศิลปะศาสนาคือลามะ ซึ่งถือว่าเป็นการสั่งสมบุญ จึงไม่มีการลงชื่อที่ผลงาน

  2. เป็นงานศาสนศิลป์ หรือศิลปะเกี่ยวข้องกับศาสนา งานจิตรกรรมแสดงเรื่องราวพระธรรมคำสอน ประติมากรรมพระพุทธรูป สถาปัตยกรรมศาสนสถาน

  3. ความงามในเชิงสุนทรียะไม่ใช่เป้าหมายหลัก งานศิลปะทางศาสนาเหล่านี้ที่สร้างเสร็จจะถูกปลุกเสกให้เป็นตัวแทนของเทพเจ้า แล้วเคารพบูชา

    จิตรกรรม

    จิตรกรรม
    ภาพจิตรกรรม

     จิตรกรรมของภูฏานแบ่งได้เป็น 3 ประเภท

    1. เขียนลายประดับรูปประติมากรรม ประติมากรรมดินเหนียวจะเขียนลายและลงสีทั่วทั้งองค์ ถ้าเป็นประติมากรรมโลหะจะลงลายเฉพาะส่วนพระพักตร์

    2. จิตรกรรมฝาผนัง ที่ภูฏานจะนำดินมาฉาบผนังไว้ก่อนหนึ่งชั้น รอจนแห้งแล้วขัดผิวให้เรียบแล้วจึงเขียนลายลงสี แต่มีเทคนิคที่แพร่หลายกว่านั้นคือ การแปะผ้าติดผนัง ช่างจะเขียนลายและลงสีบนผืนผ้าชั้นดีก่อนแล้วนำมาติดให้เป็นเนื้อเดียวกันกับผนัง ช้แป้งเปียกฉาบทับอีกทีเพื่อป้องกันแมลง

    3. เขียนภาพทังกาหรือภาพพระบฏ ภาพวาดแทนพระพุทธเจ้าเปรียบได้กับพระพุทธรูป เป็นพุทธศิลป์ระดับสูง ใช้สีธรรมชาติ ในสมัยก่อนบางสีหายากขนาดว่าต้องเสาะหาแร่ธาตุจากแถบเทือกเขาหิมาลัย และใช้ทองคำเป็นส่วนผสม ผ้าทังกาใช้เวลาในการวาดลายลงสีอย่างประณีตละเอียดซับซ้อน เก็บรักษาอยู่ได้ถึง 400 ปี จะนำออกมากางแสดงให้เห็นเฉพาะในวันสำคัญ โอกาสพิเศษ เทศกาลประจำปีเท่านั้น ภาพทังกาอัดแน่นไปด้วยสีสันหลากหลายสวยงาม บางภาพลงสีทองเป็นพื้นหลังตัดด้วยเส้นสีแดงและดำ ถ้าเป็นภาพเทพเจ้าภาคดุร้ายจะใช้สีดำเป็นพื้นหลังตัดด้วยเส้นสีแดงและสีทอง เมื่อวาดภาพเสร็จจะนำผ้าต่วนหลากสีมาติดเป็นขอบ แต่ละสีมีความหมายเชิงสัญลักษณ์แฝงอยู่ แล้วนำไม้สองท่อนมาติดขอบด้านบนล่างเพื่อใช้เป็นที่แขวน นอกจากนั้นการทำภาพทังกายังมีเทคนิคสำคัญอีกสองอย่างที่ใช้ทำภาพทังกาผืนใหญ่แขวนนอกกำแพงป้อมปราการในช่วงงานเทศกาลทางศาสนา แต่ไม่เกี่ยวกับการเขียนภาพ นั่นคือ เทคนิคการปัก และเทคนิคการทำอัปปลิเก

   ประติมากรรม

ประติมากรรม
ภาพประติมากรรม

        ประติมากรรมในภูฏานมีน้อยมาก นอกจากการแกะสลักอักษรบนกำแพงหินหรือหน้าผา เรื่องราวน่าสนใจของประติมากรรมภูฏานคือต้นไม้แห่งชีวิตคือ แกนไม้ที่จารึกบทสวดมนต์ พันทบด้วยผ้าหลายชั้น พอกดินเหนียวปิดให้มิดชิด นำมาบรรจุในรูปประติมากรรมดินเหนียว สถูป และรูปหล่อโลหะ เทคนิคการหล่อที่แพร่หลายคือการพิมพ์ขี้ผึ้ง ประติมากรรมและสถูปโลหะส่วนใหญ่ทาสีทอง บางครั้งประดับด้วยหินปะการังและเทอร์ควอยซ์

   สถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรม

        สถาปัตยกรรมภูฏานที่คุณจะได้พบเห็นเมื่อมาเที่ยวที่นี่คือ สถูปเจดีย์ วัด อาราม ป้อมปราการ และอาคารบ้านเรือน วัสดุก่อสร้างและลวดลายสีสันมีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สถูปเจดีย์มี 3 แบบ คือ แบบเนปาล แบบทิเบต และแบบภูฏานทรงสี่เหลี่ยมมีหลังคา ภายในสถูปมี “ต้นไม้แห่งชีวิต” พระพุทธรูป พระสูตร สมุนไพร และอาวุธบรรจุอยู่ภายใน ระหว่างสถูปสององค์อาจมีกำแพงหิน ที่เรียกว่า “กำแพงมานี” เชื่อมอยู่  ชาวภูฏานมีความเชื่อว่าสถูปจะช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจ จึงมักสร้างตามสี่แยก สะพาน ช่องเขา ที่เป็นจุดอันตรายเพื่อคุ้มครองผู้ที่ผ่านไปมาให้เดินทางปลอดภัย

          วัดในภูฏานเรียกว่า “ลาคัง” ลาคังที่ตั้งอยู่เดี่ยวๆ จะหมายถึงวัด แต่ถ้าเป็นส่วนหนึ่งของอารามที่เรียกว่า “กมปา” ลาคังจะเป็นวิหารหรือหอพระมากกว่า ลาคังเป็นอาคารชั้นเดียว ทาสีแดงเป็นแถบคาดผนังทั้งสี่ด้าน ลาคังบางแห่งเก่าแก่หลายร้อยปี ส่วนกมปา หรืออาราม มี 2 แบบ คืออารามหมู่ และอารามป้อม อารามหมู่อายุเก่าแก่กว่าอารามป้อม อารามที่มีชื่อเสียงของภูฏาน ได้แก่ กังเตกมปา

          ซอง หรือ ป้อมปราการ เป็นสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงอย่างมากของภูฏาน จะสร้างไว้ตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญเนื่องจากคอยป้องกันข้าศึก มีกำแพงแข็งแรง ประกอบด้วยหอกลาง ลานเอนกประสงค์ อาคารราชการ วิหาร ซองตามเมืองสำคัญ ได้แก่ พาโรรินปุงซอง ตาชิโชซองเมืองทิมพู พูนาคาซอง

          สถาปัตยกรรมพื้นบ้านของภูฏาน มีวัสดุไม้เป็นองค์ประกอบ ที่โดดเด่นและเป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยวคือหน้าต่างแบบภูฏาน กรอบหน้าต่างมีสีสันและลวดลายที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ทางศาสนา บ้านในชนบทภูฏานเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีหนึ่งหรือสองชั้น จะนิยมทาสีขาว เขียนลายสวยงาม

    หัตถกรรม

งานหัตถกรรม
งานหัตถกรรม

        “โซริกซูซุม” หมายถึง งานช่างสิบสามหมู่ เป็นการจัดประเภทงานช่างของภูฏานเป็น 13 ประเภท มีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่17 ได้แก่ งานเครื่องไม้ งานก่อหิน งานประติมากรรม งานจิตรกรรม งานปั้นดินเหนียว งานหล่อโลหะ งานกลึงไม้ งานหลอมโลหะ งานเครื่องประดับ งานสานไม้ไผ่และหวาย งานผลิตกระดาษ งานปัก และงานทอ งานหัตถกรรมที่ภูฏานมีราคาค่อนข้างแพง เพราะไม่ได้ทำมาเพื่อขายโดยตรง แต่ทำมาใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งเครื่องจักรมีน้อย ขาดแรงงาน ต้องทำเองทุกขั้นตอน สินค้าจึงไม่เพียงพอกับความต้องการ ผ้าทอพื้นเมือง ผ้าทอแบบโบราณของภูฏานมีชื่อเสียง มักทอเป็นแถบลายริ้ว ลายตาราง มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ เครื่องประดับของภูฏานทำจากทองและเงิน ฝังพลอย แกะสลักเป็นสัญลักษณ์นำโชค อัญมณีโด่งดังที่สุดและมีราคาสูงมากคือ หินปะการังและหินชี (หินโมรามีเส้นสีขาวฝังอยู่) สร้อยหินปะการังหรือสร้อยหินชีที่พบเห็นสตรีภูฏานสวมใส่ในงานเทศกาลเป็นมรดกตกทอดกันในตระกูล ราคาซื้อขายหินชีในประเทศสูงถึง 2,500 – 3,000 ยูโร และทางการภูฏานห้ามนำหินชีออกนอกประเทศเด็ดขาด งานแกะสลักไม้ผลิตกันส่วนใหญ่ในเขตตาชิยังซี ทางภาคตะวันออก จะใช้ไม้สนหรือไม้วอลนัต ส่วนงานหัตถกรรมไม้ไผ่และหวายมาจากชาวบ้านเขตปกครองเค็ง และที่ภูฏานก็ยังมีการทำกระดาษจากเปลือกไม้ชนิดพิเศษ

    การแสดงและดนตรี

การแสดงและดนตรี
การแสดงและดนตรี

        ที่มาของการแสดงและดนตรีภูฏาน มีรากเหง้ามาจากศาสนาพุทธตันตระ ครั้งที่ท่านคุรุ รินโปเชนำศาสนาพุทธเข้ามาในดินแดนนี้ ท่านต้องต่อสู้กับภูตผีปีศาจที่ชาวพื้นเมืองนับถืออยู่ก่อนแล้ว ท่านจึงคิดกุศโลบายผนวกเอาภูติผีปีศาจทั้งหลายมาเป็นธรรมบาลในพุทธศาสนาให้ชาวบ้านเห็นว่าศาสนาพุทธมีอำนาจเหนือกว่าวิญญาณชั่วร้าย การทำพิธีทางศาสนาพุทธในภูฏานจึงต้องมีการร่ายรำของเหล่าภูตผีปีศาจ จนพัฒนากลายมาเป็นระบำ เช่น ระบำกลอง และระบำหน้ากากเซชูที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาชมให้เห็นกับตา โดยจะจัดเป็นเทศกาลยิ่งใหญ่ประจำปี แสดงโดยพระและฆราวาส มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสั่งสอนศีลธรรม เล่าเรื่องราวในพระพุทธศาสนา ปกป้องคุ้มครองหมู่บ้านหรือเมืองจากวิญญาณร้ายและประกาศชัยชนะของท่านคุรุ รินโปเช ใช้เครื่องดนตรีฉาบ แตรงอน และกลอง เครื่องแต่งกายสีสด ท่าทางการรำเลียนแบบท่าเต้นของเทพยดาบนสวรรค์ที่เกจิอาจารย์พบเห็นระหว่างเข้าฌานสมาธิ ซึ่งการดูนาฏกรรมให้ซาบซึ้งรสพระธรรม ชาวพุทธควรเข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆ ทางศาสนาด้วย ระบำหน้ากากเซชูเป็น วัฒนธรรมภูฏาน ที่มีมนตร์ขลังดึงดูดให้นักท่องเที่ยววางแผนมาเยือนภูฏานในงานเทศกาลประจำปี

 

แหล่งข้อมูลจาก
-noomsao.com/ขนบธรรมเนียมประเพณี-ชาวภูฏาน.html
-http://www.bhutancenter.com/culture/
Powered by